7 นิสัยที่ทำให้คุณยากจน
1.ใช้จ่ายไม่ยั้งคิด
หากคุณเป็นคนที่ใช้จ่ายไม่คิดก่อนว่าสิ่งที่อยากได้นั้นเป็น Need (จำเป็น) หรือ Want (ต้องการ) คุณอาจกลายเป็นคนอับโชคจนไม่รู้ตัว
Need (จำเป็น) สิ่งของหรือบริการที่จ่าย มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อการดำรงชีพ เช่น ค่าอาหาร-เครื่องนุ่งห่ม ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ข้าวของเครื่องใช้
Want (ต้องการ) อาจเป็นสิ่งของหรือบริการที่ไม่มีความจำเป็นมากนัก โดยพิจารณาจากความจำเป็นว่า ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร เช่น ซื้อมือถือเครื่องใหม่ทั้งที่เครื่องเดิมยังใช้งานได้ดี , สินค้าจุกจิกที่ซื้อเพราะน่าใช้ แต่ความจริงก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้
2.พาชีวิตจมกองหนี้
การเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การกู้หนี้ยืมสิน เรียกได้ว่ามีบัตรอะไรกู้ได้ ทำหมด ใช้หมด เพื่อความสะดวกและสุขสบายชั่วครั้งคราว แต่สุดท้ายก็ต้องทนทุกข์กับกองหนี้ที่รวมดอกเบี้ยมหาศาล
3.ไม่มีระบบทางการเงิน
การไม่มีระบบทางการเงินที่ดี มักก่อให้เกิดปัญหาการขาดรายได้ในระยะยาวหรือในอนาคตโดยไม่รู้ตัว เช่น
– ไม่มีเงินออมเผื่อสำหรับดำรงชีพกรณีตกงาน หรือขาดรายได้
– ไม่มีอาชีพที่สร้างรายได้เป็นทางที่สอง
– ไม่มีพอร์ตการลงทุน ที่ใช้เงินสร้างเงิน
4.ชอบเป็นคนขาดๆ เกินๆ
บุคคลกลุ่มนี้ชอบปล่อยให้เงินขาด ไม่รู้จักบริหารเงิน ทั้งที่รู้ว่าตนยังมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น
– เดือนหน้าลูกจะเปิดเทอมละ ยังไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ค่าสมุดหนังสือ ค่าชุดเลย
– กลางเดือนต้องจ่ายงวดรถแล้ว ยังไม่มีเงินจ่ายเลย
– สิ้นเดือนต้องจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟแล้ว เงินยังไม่ออกเลย
บุคคลที่ชอบเกิน ชอบมาในวันสุดท้าย หรือเลยเวลาที่กำหนด ไม่สนใจรักษาสิทธิ์ทางการเงินของตนเอง เช่น
– เลยวันจ่ายงวดบัตรแล้ว เพิ่งมีเงินจ่าย ทำให้ต้องเสียค่าทวงถาม
– เลยวันจ่ายค่างวดรถแล้ว เพิ่งเงินเดือนออก ทำให้ต้องเสียค่าทวงถาม
5.ดูแคลนเงินออม
เป็นบุคคลที่ผลัดวันประกันพรุ่งเรื่องออมเงิน ชอบมีข้ออ้างไปเรื่อยๆ เช่น
นาย A มีแผนไว้ว่าจะออมเงินเดือนละ 500 บาท เมื่อผ่านไป 3 เดือน ปรากฏว่ายังไม่มีเงินออม เพราะอ้างว่า สะสมเดือนละ 500 เอง 3 เดือนก็ 1,500 บาท เดี๋ยวค่อยเก็บทีเดียว 1,500 เลยก็ได้ แต่เมื่อผ่านล่วงเลยไป นาย A ก็ยังไม่มีเงินออม เพราะก็อ้างไปเรื่อย ต้องใช้จ่ายอย่างงั้นอย่างงี้
6.ยอมให้ชีวิตขาดเป้าหมาย
ชีวิตที่ไม่มีเป้าหมาย ก็เหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ ทำให้กำหนดทิศทางไม่ได้ การกำหนดเป้าหมายชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ก็ยังจำเป็นที่ต้องทำ เพื่อให้คุณประสบความสำเร็จในด้านที่ต้องการ
7.ไม่ใส่ใจความรู้ทางการเงิน
ความรู้ทางการเงิน หลายคนมองว่า “มันเป็นเรื่องที่เห็นๆกันอยู่แล้ว ต้องไปรู้อะไรอีก” และผลจากสิ่งนี้ก็คือ มีคนขาดแคลนรายได้ ไม่มีเงินออม , มีคนเป็นหนี้แล้วชำระหนี้ไม่ได้ , จนถึง มีคนรวยเร็วแล้วก็กลับไปจน
ที่จริงแล้วเรื่อง “ความรู้ทางการเงิน” นั้นคือทัศนคติและวิธีการหาเงิน , ใช้เงิน , นำเงินไปลงทุนออกดอกผลอย่างถูกต้อง , และการมีเงินสำรอง จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องได้รับการเรียนรู้อย่างถูกต้อง