กินน้ำตาลเยอะทำให้แก่เร็ว! จริงเหรอ?
น้ำตาลเป็นส่วนผสมหนึ่งในอาหารและเครื่องดื่มหลายประเภท องค์การอนามัยโลกได้แนะนำปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคไม่ควรเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน แต่ในความเป็นจริง รายงานจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงถึงวันละ 28.4 ช้อนชาซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำถึง 4.7 เท่า
น้ำตาลไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังต่างๆ การศึกษาวิจัยยังพบว่าการบริโภคน้ำตาลในปริมาณสูงมีความสัมพันธ์กับการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัยกับเซลล์ผิวหนังและเซลล์บริเวณอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย
น้ำตาลสัมพันธ์กับความแก่อย่างไร?
เมื่อเราบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
1.น้ำตาลเหล่านั้นถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลที่บริเวณผิวหนังสูงขึ้น
2.น้ำตาลบริเวณผิวหนังสามารถจับกับโปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเกิดเป็นสารประกอบที่มีชื่อว่า Advanced glycation end products หรือ AGEs ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดริ้วรอยและแก่ก่อนวัย
3.เมื่อ AGEs เกิดขึ้นในชั้นผิวหนังจะส่งผลให้โปรตีนอีลาสตินและคอลลาเจนเสื่อมสภาพและสะสมอยู่ที่บริเวณผิวหนัง ส่งผลให้ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง เกิดการหย่อนคล้อย ทั้งยังส่งผลให้เซลล์และโครโมโซมผิดปกติ
4.นอกจากนี้ AGEs ยังสามารถกระตุ้นการสร้างสารอนุมูลอิสระและสารก่อการอักเสบซึ่งทำลายเซลล์ผิวหนังและยับยั้งกระบวนการสร้างเซลล์ผิวใหม่
ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง อาจช่วยชะลอการเกิดผิวหย่อนคล้อยจากการป้องกันการเกิด AGEs ทำให้เราดูอ่อนเยาว์จากภายในสู่ภายนอก
เรียบเรียง : เทพบวร มะกุล
อ้างอิง
- Suvetwethin D. เครื่องดื่มน้ำหวานความอร่อยเคลือบยาพิษ [Internet]. 2559 [เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2559].
- Danby FW. Nutrition and aging skin: sugar and glycation. Clin Dermatol. 2010;28(4):409-11.
- Draelos ZD. Aging skin: the role of diet: facts and controversies. Clin Dermatol. 2013;31(6):701-6.
- Urbach E, Lentz JW. Carbohydrate metabolism and the skin. Arch Derm Syphilol. 1945;52:301-16.
- Fournet M, Bonte F, Desmouliere A. Glycation Damage: A Possible Hub for Major Pathophysiological Disorders and Aging. Aging Dis. 2018;9(5):880-900.
- Pageon H, Zucchi H, Pennacchi PC, Asselineau D. Glycation and skin aging. In: Farage MA, Miller KW, Maibach HI, editors. Textbook of aging skin. Berlin, Heidelberg: Springer Berlin Heidelberg; 2017. p. 1247-70.
- Gkogkolou P, Bohm M. Advanced glycation end products: Key players in skin aging? Dermatoendocrinol. 2012;4(3):259-70.
- Cosgrove MC, Franco OH, Granger SP, Murray PG, Mayes AE. Dietary nutrient intakes and skin-aging appearance among middle-aged American women. Am J Clin Nutr. 2007;86(4):1225-31.
- Boccardi V, Paolisso G, Mecocci P. Nutrition and lifestyle in healthy aging: the telomerase challenge. Aging. 2016;8(1):12-5.
- Lee D, Hwang W, Artan M, Jeong DE, Lee SJ. Effects of nutritional components on aging. Aging cell. 2015;14(1):8-16.
- Leung CW, Laraia BA, Needham BL, Rehkopf DH, Adler NE, Lin J, et al. Soda and cell aging: associations between sugar-sweetened beverage consumption and leukocyte telomere length in healthy adults from the National Health and Nutrition Examination Surveys. Am J Public Health. 2014;104(12):2425-31.
- Advanced Glycation End-Products (AGEs): Formation, Chemistry, Classification, Receptors, and Diseases Related to AGEs